วัดศาลเจ้า เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งของเมืองปทุม อาณาเขตติดต่อกับวัดมะขาม ติดแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองเชียงราก ประวัติความเป็นมาของวัดศาลเจ้าแห่งนี้ มีคำบอกเล่าแตกต่างกันออกไป บ้างกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2330 เนื่องจากตั้งอยู่ปากคลองศาลเจ้า จึงตั้งชื่อวัดตามทำเลที่ตั้ง และได้รับพระราชทานวิสุงคาสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2333
แต่อีกตำนานเล่าขานกันต่อมาว่า วัดศาลเจ้า สร้างเมื่อปลายกรุงศรีอยุธยา โดยเจ้าน้อยมหาพรหม บุตรเจ้าเมืองฝ่ายเหนือ เป็นผู้มีวิชาไสยศาสตร์แก่กล้า ได้ล่องแพมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา จนมาถึงวัดมะขามในและได้พบกับพระภิกษุเชื้อสายรามัญ นาม “พระอาจารย์รุ” ผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน ทั้งสองได้ทดสอบวิชากัน เจ้าน้อยมหาพรหมเกิดความเคารพเลื่อมใสในวิทยาคมของพระอาจารย์รุ จึงขอสร้างวัดและศาลขึ้นตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจ แล้วตั้งชื่อว่าวัดศาลเจ้า คาดว่ามาจาก “ศาล” ที่สร้างขึ้นโดย “เจ้า”น้อยมหาพรม
ภายในวัดศาลเจ้ามีปูชนียสถานที่สำคัญ เช่น อุโบสถซึ่งเจ้าน้อยมหาพรหมสร้างถวายในสมัยพระอาจารย์รุ ได้ทำการบูรณะใหม่ในเวลาต่อมา นับว่าเป็นอุโบสถที่สวยงามมาก เจดีย์แบบรามัญ ซึ่งงดงามตามแบบเจดีย์รามัญ และหาชมได้ยาก พระพุทธรูปที่เจ้าน้อยมหาพรหมสร้างไว้ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาการเปรียญ
การมากราบขอพร “เซียนแปะ โรงสี” , “เซียนแปะกิมเคย” หรือ “เซียนแปะโง้วกิมโคย” ฆราวาสชาวจีนผู้เรืองเวทย์ โดยส่วนใหญ่นิยมมาขอพรเรื่องการเงินการงาน การทำธุรกิจการค้าให้เจริญรุ่งเรือง เมื่อได้สมปรารถนาแล้วก็จะนำผลไม้ของไหวมงคลต่าง ๆ รวมถึงหุ่นจระเข้มาถวายเพื่อความเป็นสิริมงคล ท่านเป็นที่รักเคารพและศรัทธาของชาวบ้านในละแวกนั้นเป็นอย่างมาก
ตลาดริมวัดศาลเจ้าแห่งนี้มีบรรยากาศเรียบง่าย ไม่แออัด ร้านค้าส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ มีทั้งร้านขายอาหารไทยโบราณที่หาชิมได้ยาก อาทิ ห่อหมกปลาช่อนเนื้อแน่นเจ้าดัง ,ปลาตะเพียนต้มเค็ม,ปลาช่อน ปลาสลิดแดดเดียว ทอดร้อนๆ,แกงส้มมะรุมเครื่องแกงเข้มข้น,ปลาดุกย่าง สะเดา น้ำปลาหวาน,เต้าเจี้ยวหลน ปูหลน น้ำพริก ผักแกล้ม อีกทั้งเมนูของหวาน กล้วยปิ้งร้อนๆ,ขนมข้าวแต๋นน้ำแตงโม,ขนมครกกะทิหวานมัน,ขนมบ้าบิ่น,ขนมครกใบเตย,ขนมเบื้องโบราณ และ ผักผลไม้สดจากสวน แต่ที่ห้ามพลาดเลยก็คือ “กุ่ยช่ายเจ๊มล” มีให้เลือกหลากหลายไส้ ทั้งเผือก หน่อไม้ มันแกว มีทั้งแบบทอดและนึ่ง
ตลาดริมน้ำวัดศาลเจ้าเปิดทุกวัน 08.00 – 17.00 น. แต่จะมีของขายเยอะใน วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์